วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บ้านภูกอก หมู่ที่ 4

บ้านภูกอก หมู่ที่ 4
ที่ตั้ง
          บ้านภูกอก  ตั้งอยู่หมู่ที่  4  ตำบลสกาด  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน  อยู่ห่างจากตัวอำเภอปัวประมาณ   24   กิโลเมตร

ประวัติความเป็นมา
          บ้านภูกอกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่  20  สิงหาคม  2535  เป็นหมู่บ้านที่แยกออกมาจากหมู่บ้านสกาดกลาง  ตำบลสกาด  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือนายสิทธิ์  รกไพร

สภาพทางภูมิศาสตร์และคมนาคม
          อาณาเขต         ทิศเหนือ                   อยู่ติดกับหมู่บ้านสกาดเหนือ
                             ทิศใต้                       อยู่ติกับตำบลสถาน
                             ทิศตะวันออก              อยู่ติดกับอำเภอเชียงกลาง
                             ทิศตะวันตก                อยู่ติดกับหมู่บ้านสกาดกลาง
          เส้นทางคมนาคม  จากอำเภอปัวมาถึงหมู่บ้านภูกอก  ใช้เส้นทางสายบ้านนาฝาง-  สกาด  ซึ่งเป็นเส้นทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินสานน่าน ทุ่งช้าง  เป็นทางลาดยาง  ประมาณ  24  กิโลเมตร  (กรมโยธาธิการ)   มีรถโดยสารไม่ประจำทางวิ่งรับส่งผู้โดยสารวันละสองเที่ยวจากหมู่บ้านถึงอำเภอปัว
การสื่อสารบ้านภูกอกมีตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย  1  ตู้
          การสาธารณูปโภค   มีไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  มีน้ำประปาภูเขา

ประชากร       
          ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าถิ่น (ลัวะ)  มีประชากรทั้งหมด  จำนวน  679  คน  แยกเป็นชายจำนวน  329  คน  เป็นหญิงจำนวน  350  คน  จำนวนครัวเรือนทั้งหมด  148  ครัวเรือน  (สถิติปี  2548)   การอพยพของประชากรส่วนมากไม่อพยพไปไหน
          ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร  การปลูกเมี่ยง  ทำไร่เลื่อนลอย  ปลูกข้าว  ข้าวโพด  รายได้ส่วนใหญ่ของประชากรมาจากสินค้าทางการเกษตร  เฉลี่ยรายได้ต่อครอบครัวประมาณ  3,000  -  4,000บาท/ปี



บ้านสกาดใต้ หมู่ 3

บ้านสกาดใต้  หมู่ที่  3
ที่ตั้ง
          บ้านสกาดใต้  ตั้งอยู่หมู่ที่  3  เป็นส่วนหนึ่งของตำบลสกาด   ตั้งอยู่บนภูเขาสูงของเทือกเขาภูคา  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน   อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอปัวไปทางทิศเหนือประมาณ  21  กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามไหล่เขาที่สูงชันสลับซับซ้อน

ประวัติความเป็นมา
          หมู่บ้านสกาดใต้   เดิมเป็นชาวเขาเผ่าถิ่น (ลัวะ)  บ้านสกาดกลาง  ซึ่งเข้ามาแทนที่พวกม่าน  ซึ่งสลายตัวไปก่อนแล้ว  ชาวถิ่นนับถือผีมาแต่โบราณมีประเพณีตีพิที่สืบทอดกันมาภายหลังได้มีคนขาวพื้นราบขึ้นมรติดต่อค้าขายและได้แต่งานกับชาวบ้านสกาดกลางโดยชาวบ้านพื้นราบที่ขึ้นมามีครอบครัวตั้งรกรากที่นั้น  เริ่มแรกมาจากบ้านน้ำปัว  อำเภอเวียงสา  จังหวัดน่าน  ต่อมาได้มีเพื่อนฝูงอพยพติดตามขึ้นมาตั้งรกรากครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกหลายครอบครัว  ชาวพื้นราบบ้านน้ำปัวที่ขึ้นมาแต่งงานมีครอบครัวบนตำบลสกาด  (บ้านสกาดกลาง)  นั้นนับถือศาสนาพุทธซึ่งแตกต่างกับชาวถิ่นตำบลสกาดที่ส่วนมากนับถือผีอยู่    เมื่อถึงคราวเทศกาลพิธีสำคัญตีพิ (กินสโลดหลวง)  ของชาวบ้านสกาดกลางที่นับถือผี  ชาวบ้านน้ำปัวที่นับถือศาสนาพุทธก็จะนำเอาพิธีกรรมดังกล่าวมาล้อเล่นกัน  และเมื่อถึงคราวชาวบ้านน้ำปัวประกอบพิธีกรรมตามทางพระพุทธศาสนาซึ่งมีความแตกต่างกัน ชาวบ้านสกาดกลาง  (ถิ่นลัวะ)  ก็จะล้อเลียน  เป็นอยู่อย่างนี้
          ดังนั้น  ในที่สุดครอบครัวของบรรดาเขยจากพื้นราบจึงพากันแยกตัวออกจากชาวบ้านสกาดกลางมาตั้งหมู่บ้านใหม่  ณ  ที่บริเวณหมู่บ้านสกาดใต้จนปัจจุบันนี้  โดยสมาชิกทีแรกเริ่มก่อตั้งนั้นมีจำนวน  8  ครอบครัว   นับเป็นต้นบรรพบุรุษแรกเริ่มของชาวบ้านสกาดใต้ และผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือนายวุฒฑิกร  สุมทุม

สภาพภูมิศาสตร์  การคมนาคมและการสื่อสาร
          อาณาเขต         ทิศเหนือ          อยู่ติดกับอำเภอเชียงกลาง   จังหวัดน่าน
                             ทิศใต้             อยู่ติดกับตำบลภูคา
                             ทิศตะวันออก     อยู่ติดกับหมู่บ้านสกาดกลาง  ตำบลสกาด
                             ทิศตะวันตก      อยู่ติดกับตำบลสถาน  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน

          เส้นทางการคมนาคม  จากจังหวัดน่านผ่านอำเภอปัว   แยกขวาเข้าหมู่บ้านในตำบลสถาน  ผ่านเส้นทางสายบ้านนาฝาง  ตำบลสถาน  ขึ้นไปตำบลสกาด  ระยะทางจากตัวอำเภอปัวขึ้นไปถึงหมู่บ้านเป็นระยะทางยาวประมาณ  21  กิโลเมตร
          การสื่อสาร  บ้านสกาดใต้เป็นที่ตั้งของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข  อนุญาต  1  แห่ง  มีตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย   1 ตู้ 
          การสาธารณูปโภค  มีไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  มีน้ำประปาภูเขาใช้

ประชากร
          ประชากรในหมู่บ้านสกาดใต้  ปัจจุบันเป็นชาวไทยพื้นเมือง  นับถือศาสนาพุทธมีสำนักปฏิบัติธรรมสงฆ์  (อาศรม)  มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ 1  รูป  ประชาชนในหมู่บ้านมีจำนวน  786  คน  แยกเป็นชาย  387  คน   เป็นหญิง  402  คน  มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด  206   หลังคาเรือน  (สถิติปี  2548)
          อาชีพส่วนใหญ่ของประชากรในหมู่บ้านสกาดใต้  คือการปลูกเมี่ยงอาชีพลองคือการทำไร่ข้าว  ผลไม้  และพืชผักตามฤดูกาล  รายได้ส่วนใหญ่ได้จากการขายเมี่ยง  ขายมะแข่น  ครอบครัวไหนที่มีส่วนเมี่ยงและสวนมะแข่นจำนวนมาก  ถือว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี  คนที่ไม่มีก็จะรับจ้างเก็บเมี่ยง  เก็บมะแข่น  หรือรับจ้างทั่วไป  ประชากรร้อยละ  5   นิยมไปขายแรงงานที่ต่างจังหวัด

ศาสนา  วัฒนธรรม  ประเพณี
          ประชากรในหมู่บ้านสกาดใต้นับถือศาสนาพุทธ  แต่ยังมีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์อยู่ มีพิธีกรรมตางๆ  เพื่อช่วยผ่อนคลายความทุกข์เวลาเกิดความไม่สบายใจ  เช่น  การส่งเคราะห์    การสะเดาะเคราะห์  การเรียกขวัญ  (บายศรีสู่ขวัญ)  การเลี้ยงผี และการสืบชาตาเป็นต้น
          วัฒนธรรมในการแต่งกาย  ผู้ชายใส่เสื้อแขนกระบอก  กางเกงขาก๊วย (กางเกงสามดูก)  ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอกสั้น , ยาว  นุ่งผ้าซิ้นสีดำ  หากมีงานเทศกาลจะนำยมนุ่งผ้าชุดไทย  ปัจจุบันการแต่งกายได้เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม
          งานเลี้ยงต่างๆ   งานขึ้นบ้านใหม่  งานศพ  งานพิธีเหล่านี้แขกจากในหมู่บ้านและต่างถิ่นมาเยี่ยม  มาร่วมงาน  เมี่ยงจึงเป็นของกินหลักที่นิยมใช้ต้อนรับแขกพร้อมจานใส่บุหรี่มวนใบตองแห้ง
          การปลูกสร้างบ้านใหม่  มีขั้นตอนพิธีการหลายอย่าง  เริ่มตั้งแต่  การขุดปรับพื้นที่หน้าดินตามไหล่เขาให้เป็นพื้นราบเรียบสำหรับวางผังบ้าน  ต้องมีพิธีบอกเจ้าที่เจ้าทาง  มีการประดิษฐ์  สะตวงกาบกล้วยสำหรับใส่ข้าวตอกดอกไม้  หมากพลู  บุหรี่  อมเมี่ยง  โดยมีผู้ทำพิธี (อาจารย์)  หรือผู้มีคาถาอาคมเป็นผู้ทำพิธีบอกกล่าวแก่แม่ธรณีก่อนลงมือทำการปรับหน้าดิน  เรียกว่าเป็นพิธีสูตรถอนที่ดินให้เป็นมงคล
          พิธีบายศรีสู่ขวัญ   ที่ทั้งทำให้คนและสัตว์ในสมัยก่อนหมู่บ้านสกาดใต้มีสัตว์เลี้ยง  คือ  ช้าง  ม้า  วัว  ควาย  เมื่อสัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งานเกิดอาการเจ็บป่วย  ได้รับอุบัติเหตุ  หรือเสร็จจากการใช้งานก็จะมีพิธีการสู่ขวัญในสัตว์นั้นด้วย  ถือว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นและบุคคลสำคัญ
                   จักสาน                     -  นายทา        รกไพร
                                                -  นายปั๋น        สุมทุม
                                                -   นายหมาย    สุมทุม
                   การทำไม้กวาด             -  นายแข้น      สุมทุม
                   การทำยาสมุนไพร         -  นายหลอ      สุมทุม
                                                -   นายข้อน     สุมทุม
                                                -   นายอำนวย   สุมทุม
                   เครื่องดนตรีและค่าวซอ   -   นายข้อน     สุมทุม
                                                -  นายขันแก้ว   สุมทุม
                                                -  นางมาลัย      สุมทุม
                                                -  นายอาคม     สุมทุม
                                                -  นายแปง       สุมทุม
                                                -   นายปั๋น       สุมทุม
                   หมอขวัญ                   -  นายทง        สุมทุม
                   ตีมีด                        -  นายเป็ง        สุมทุม
         
มีสถานที่สำคัญ 
1.   โรงเรียนบ้านสกาดใต้
2.       สำนักปฏิบัติธรรมสงฆ์  (อาศรม)  1  แห่ง

สถานที่ท่องเที่ยว
1.       น้ำตกตาดเล็ก  เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ  30  เมตร  อยู่ห่างจากหมู่บ้านสกาดใต้  ประมาณ  1  กิโลเมตร
2.       น้ำตกตาดหลวง  เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ  50  เมตร  อยู่ห่างจากหมู่บ้านสกาดใต้ประมาณ  3  กิโลเมตร

3.       จุดชมวิว   เป็นสถานที่ที่สามารถชมความสวยงามตามธรรมชาติของหมู่บ้านในเขตตำบลสกาดทั้งหมด

บ้านสกาดกลาง หมู่ที่ 2

หมู่บ้านสกาดกลาง หมู่ที่  2
ที่ตั้ง 
          บ้านสกาดกลาง  ตั้งอยู่  หมู่ที่ 2  ตำบลสกาด  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน  อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอปัว  ประมาณ  24  กิโลเมตร  และอยู่ห่างจากโรงพยาบาลชุมชน  ประมาณ  25  กิโลเมตร

ประวัติความเป็นมา
          เป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นมาเก่าแก่หลายร้อยปี  โดยไม่ทราบประวัติผู้ก่อตั้ง ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันคือ นายแม้น  รกไพร

สภาพภูมิศาสตร์  การคมนาคมและการสื่อสาร
          อาณาเขต         ทิศเหนือ          อยู่ติดกับบ้านสกาดเหนือ  หมู่ 1
                             ทิศใต้             อยู่ติดกับบ้านสกาดใต้     หมู่  3
                             ทิศตะวันออก     อยู่ติดกับตำบลภูคา  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน
                             ทิศตะวันตก      อยู่ติดกับบ้านภูกอก  หมู่ 4
การคมนาคม
            เส้นทางการคมนาคม  จากอำเภอปัวมาถึงหมู่บ้านสกาดกลางใช้เส้นทางสายบ้านนาฝาง สกาด  ซึ่งเป็นทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินสายน่าน ทุ่งช้าง  เป็นถนนลาดยางยาวประมาณ  22  กิโลเมตร  (กรมโยธาธิการ)  การคมนาคมจะเดินทางได้สะดวกโดยสารไม่ประจำทางวิ่งจากบ้านถึงอำเภอปัววันละสองเที่ยวทุกวัน
การสื่อสาร
            หมู่บ้านสกาดกลางไม่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะใช้โทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์ฯที่หมู่บ้านอื่น  คือบ้านภูกอก การสาธารณูปโภค มีไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบริการใช้น้ำจากน้ำประปาภูเขาประชากร    
          ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าถิ่น (ลัวะ)  มีประชากรทั้งหมด  จำนวน  987  คน  แยกเป็นชาย  466  คน   เป็นหญิง  521  คน  จำนวนครัวเรือนทั้งหมด  246  ครัวเรือน  การอพยพของประชากรส่วนใหญ่นิยมเข้าไปทำงานอยู่ในเมืองหลวง
          ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร  ทำไร่เลื่อนลอย  ปลูกข้าว  ข้าวโพด  พืช  เศรษฐกิจของหมู่บ้าน  คือเมี่ยง  รายได้ส่วนใหญ่ของประชากรมาจากสินค้าทางการเกษตร  เฉลี่ยรายได้ครอบครัวประมาณ  500.- 5,000.-  บาท  / ปี

ศาสนา  วัฒนาธรรมและประเพณี
          ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  แต่ยังมีความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์สิ่งลี้ลับที่มองไม่เห็นอยู่  มีพิธีกรรมทีสืบทอดต่อ ๆ  กันมา  คือประเพณีตีพิ  การสงเคราะห์  การบายศรีสู่ขวัญ  การเลี้ยงผี  เป็นต้น

วัฒนธรรมและประเพณี
          ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ   แต่ยังมีความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์สิ่งลี้ลับที่มองไม่เห็นอยู่  มีพิธีกรรมที่สืบทอดต่อ  ๆ  กันมา คือ  ประเพณีการตีพิ  การส่งเคราะห์  การบายศรีสู่ขวัญ  การเลี้ยงผี  เป็นต้น  วัฒนธรรมในการแต่งกาย  ไม่เอกลักษณ์เป็นของตนเอง  แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านชอบใส่เสื้อหม้อฮ่อม และเสื้อแขนกระบอก  ผู้หญิงชอบนุ่งผ้าถุง  ผู้ชายชอบใส่กางเกงหม้อฮ่อมขาก๊วย  ปัจจุบันชอบการแต่งกายสมัยนิยม
          ประเพณี  มีประเพณีการเล่นพิ  (กินสโลด)  เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดต่อๆ  กันมาหลายชั่วอายุคนจะนิยมเล่นกันในเดือนสิบ  (เดือนสิงหาคม)
          ภาษา   ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง  มีแต่ภาษาพูด  (ภาษาถิ่นลัวะ)  ใช้ภาษาไทยกลางในการติดต่อสื่อสาร
          หมู่บ้านสกาดกลาง  ไม่มีวัด  เมื่อพิธีกรรมทางศาสนาจะไปนิมนต์พระจากที่อื่นและอาศรมบ้านสกาดใต้

ภูมิปัญญาท้องถิ่น
          ภูมิปัญญาชาวบ้าน ส่วนมากเป็นงานจัดสารไม้ไผ่  การทำอุปกรณ์กับดักสัตว์

สถานที่ท่องเที่ยว
-                   น้ำตกห้วยแตน  อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน  ใช้เวลาเดินทางเท้าไปอย่างช้า  1  ชั่วโมง  เป็นน้ำตกสูงหลายชั้นยังไม่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว อยู่กลางป่าลึก  น้ำตกนี้จะไหลสู่แม่น้ำปัว
-                   แม่น้ำปัวอยู่ใกล้ๆ  กับน้ำตกห้วยแตน

-                   แม่น้ำก๋อน  อยู่ทางทิศเหนือค่อนมาทางใต้ของหมู่บ้าน  เป็นแม่น้ำสายเล็กๆ มีน้ำตกหลายสายตกไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำ  ท่ามกลางภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนกันไป

บ้านสกาดเหนือ หมู่ที่ 1

 บ้านสกาดเหนือ  หมู่ที่  1
 ที่ตั้ง
           ตั้งอยู่  หมู่ที่  1  ตำบลสกาด  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน  อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอปัว ประมาณ  27  กิโลเมตร  อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ   994  เมตร

ประวัติความเป็นมา 
          บ้านสกาดเหนือ  หมู่ที่  1  ถือว่าเป็นบ้านบรรพบุรุษของตำบลสกาด  เป็นต้นตระกูลของตำบลสกาด  มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน  ดังนี้
          ถิ่นฐานเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อเกลือ  อำเภอบ่อเกลือ  จังหวัดน่าน  ต่อมาการทำมาหากินไม่สะดวกจึงได้อพยพย้ายถิ่นฐานหลายครั้งตามลำดับ  คือ
1.       บ้านบอน ตำบลสถาน  อำเภอปัว
2.       บ้านนาฝาง  ตำบลสถาน อำเภอปัว
3.       ย้ายขึ้นมาอยู่ที่  ดงชะวัด  อำเภอปัว
4.       ห้อยยอ  ตำบลภูคา  อำเภอปัว
5.       บ้านสกาดกลางปัจจุบัน
6.       บ้านสกาดเหนือ
          บ้านสกาดเหนือเดิม  เป็นหมู่ที่  14   ตำบลสถาน  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน  ประมาณ  2523  ทางราชการได้แยกตำบลสกาดออกจากตำบลสถาน  บ้านสกาดเหนือได้รับการแต่งตั้งเป็นบ้านหมู่  1  ตำบลสกาด  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน   ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน  คือ  นายทาน  พิศุทธิ์   ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเป็นคนที่  8  รับตำแหน่งมาเป็นเวลา  16  ปี และดำรงตำแหน่งกำนันตำบลสกาดจนถึงปัจจุบัน

สภาพภูมิศาสตร์ และการคมนาคม
          อาณาเขต         ทิศเหนือ          ติดกับป่าไม้ดอยภูคา  ตำบลภูคา  อำเภอปัว
                             ทิศใต้             ติดกับโรงเรียนสกาดพัฒนา
                             ทิศตะวันตก      ติดกับบ้านภูกอก  หมู่ที่  4   ตำบลสกาด   อำเภอปัว
                             ทิศตะวันออก     ติดกับป่าไม้ดอยภูผาแดง  ตำบลภูคา   อำเภอปัว
          เส้นทางการคมนาคม  จากอำเภอปัวมาถึงหมู่บ้านสกาดเหนือใช้เส้นทางสายบ้านนาฝาง  -  สกาด  ซึ่งเป็นทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินสายน่าน ทุ่งช้าง  เป็นถนนลาดยางประมาณ  24  กิโลเมตร  (กรมโยธาธิการ)   การคมนาคมจะเดินทางได้สะดวกรถโดยสารประจำทางวิ่งจาหมู่บ้านถึงอำเภอปัว วันล  2  เที่ยวทุกวัน
          การสื่อสาร  หมู่บ้านสกาดเหนือไม่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะใช้โทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์ฯที่หมู่บ้านอื่น  คือ  บ้านภูกอก  การสาธารณูปโภค  มีไฟฟ้าจาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริการใช้น้ำจากน้ำประปาภูเขา

ประชากร
          ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าถิ่น (ลัวะ)  มีประชากรทั้งหมด  จำนวน   428  คน  แยกเป็นชาย  จำนวน  216  คน  เป็นหญิง  จำนวน   212   คน  จำนวนครัวเรือนทั้งหมด  103 ครัวเรือน  (สถิติปี  2548)   มีเนื้อที่ประมาณ   5,000  ไร่
          ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร   ทำไร่เลื่อนลอยปลูกข้าว  ข้าวโพดพืช  เศรษฐกิจของหมู่บ้าน  คือเมี่ยง  รายได้ส่วนใหญ่ของประชากรมาจากสินค้าทางการเกษตร  เฉลี่ยรายได้ต่อครอบครัวประมาณ  3,000  -  4,00  บาท/ปี

ศาสนา  วัฒนธรรมและประเพณี
          ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแต่ยังมีความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์สิ่งลี้ลับที่มองไม่เห็นอยู่มีพิธีกรรมที่สืบทอดต่อๆกันมา  คือประเพณีการตีพิ  การสงเคราะห์   การสะเดาะเคราะห์   การเรียกขวัญ  สู่ขวัญเป็นต้น การแต่งกาย  ผู้ชายนิยมใส่เสื้อแขนกระบอก  กางเกงขาก๊วย  (เตี่ยวสามดูก)ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก  นุ่งผ้าถุง  (ผ้าชิ่น)  ปัจจุบันทั้งชายและหญิงนิยมแต่งกายตามสมัยนิยม

ภูมปัญญาท้องถิ่น
              ภูมิปัญญาชาวบ้าน  ส่วนมากเป็นเครื่องจักสานใช้ในครัวเรือน  การทำหน้าไม้  การทำกับดักหนู  กระต่ายหรือสัตว์เล็กๆสำหรับใช้เป็นอาหาร)
              ประเพณี  มีประเพณีการเรียกขวัญข้าว  จะทำหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวไร่เสร็จ  ประเพณีตีพิ  ซึ่งทำมาจากกระบอกไม้ไผ่มีไว้สำหรับตีตามจังหวะเพลงที่คิดขึ้นเอง(คล้ายเทศกาลผีตาโขนของจังหวัดเลย)

            

สถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยว

          ดอยภูหวด  ซึ่งเป็นเขาสูงที่สุดในอำเภอปัว  เดินทางโดยรถมอเตอร์ไซค์และเดินเท้าต่ออีกประมาณ  1,000   เมตร  บนยอดเขามีทิวทัศน์ที่สวยงามมากสามารถมองเห็นอำเภอปัว  อำเภอเชียงกลาง  ตำบลภูคา  และจังหวัดใกล้เคียง  เช่น  จังหวัดเชียงราย  จังหวัดพะเยา